- search cash
- Sep 8, 2021
- 1 min read
Updated: Oct 5, 2021

ตั้งแต่วิกฤตโควิดเชื่อว่าหลายคนคงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง ๆ ทอง ๆ กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยเรียน หรือวัยทำงาน เพราะได้รู้แล้วว่าการเตรียมความพร้อมเรื่องเงินเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันสำคัญขนาดไหน บางคนเริ่มวางแผนการเงิน เริ่มออมเงินมากขึ้น และมีจำนวนไม่น้อยเลยที่หันมาเรียนรู้เรื่องการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำเงินที่มีให้งอกเงย
การวางแผนการเงินที่ดีนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้แต่ยังช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเรามากอีกด้วย วันนี้เสิร์ชแคชจะมาแนะนำการลงทุนใน “กองทุนรวม” ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ต่อยอดเงิน และสามารถสร้างกำไรให้เราได้มากกว่าการฝากเงินในบัญชีธนาคาร ที่นับวันดอกเบี้ยลดลงเรื่อย ๆ
อันดับแรกเราต้องรู้จัก “กองทุนรวม” ก่อนว่าคืออะไร? พูดง่าย ๆ ก็คือ การที่ บลจ.(บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) ซึ่งเป็นอาชีพด้านการลงทุน นำเงินของเราและผู้ลงทุนอื่น ๆ ไปลงทุนและช่วยดูแลบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ ถ้าลงทุนแล้วเกิดผลตอบแทนขึ้น ก็จะแบ่งให้ผู้ลงทุนตามสัดส่วนที่ลงทุน ซึ่งเราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนที่เราสนใจ และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ก็มีให้เลือกเลือกหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ หรือสนใจกองทุนรวมผสมที่ลงทุนผสมระหว่าง หุ้นตราสารหนี้ เงินฝาก และทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งนี้ความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันไป เมื่อรู้จักกันแล้วว่ากองทุนรวมคืออะไร ใครที่อยากเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม เตรียมตัวให้พร้อมแล้วไปต่อกันเลย
มารู้จักกองทุนรวมแต่ละประเภทกันก่อน
กองทุนรวมแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามระดับความเสี่ยง และสินทรัพย์ที่ลงทุน ได้แก่
1. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายการลงทุนในเงินฝาก หรือตราสารหนี้ระยะสั้น
เหมาะกับใคร: ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยมาก หรือผู้ที่ต้องการพักเงิน
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงต่ำ
กองทุนรวมที่น่าสนใจ: KFCASH-A, KFCASHPLUS
2. กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ, ตั๋วเงินคลัง, บัตรเงินฝากของธนาคาร, ตั๋วสัญญาใช้เงิน, ตั๋วแลกเงิน, หุ้นกู้เอกชน
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ลงทุนระยะยาวได้ ผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยง หรือผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากดอกเบี้ยขาลง
ระดับความเสี่ยง: ปานกลางค่อนข้างต่ำ
กองทุนที่น่าสนใจ: KFSMART, KFAFIX-A
3. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายกระจายการลงทุนทั้งในตราสารหนี้ และตราสารทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงของเงินที่ลงทุน
เหมาะกับใคร: ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง หรือผู้ที่ยังไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนในหุ้นมากนัก แต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
กองทุนรวมที่น่าสนใจ: KFHAPPY-A, KFGOOD หรือ KFFLEX-D
4. กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund)
รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ หน่วยลงทุนของกองทุนรวม มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 80%
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ต้องการผลตอบแทนสูงและรับความเสี่ยงได้สูง ผู้ที่ชอบการลงทุนในหุ้น แต่ไม่มีเวลาบริหารการลงทุน
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงสูง
กองทุนรวมที่น่าสนใจ: KFTSTAR-A, KFENS50-A, KFSDIV หรือ KFSEQ
5. กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund)
รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระจายการลงทุน และเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทน
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังประเทศ หรือภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้ ต้องสามารถรับความเสี่ยงได้สูงและรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินได้
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงสูง
กองทุนรวมที่น่าสนใจ: KFGBRAND-A, KF-HEUROPE หรือ KFINNO-A
6. กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก
รูปแบบการลงทุน: ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากสินทรัพย์พื้นฐาน เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน ตราสารอนุพันธ์ที่ไม่ใช่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน
เหมาะกับใคร: ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก หรือผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงสูงมาก
กองทุนที่น่าสนใจ: KF-OIL หรือ KF-GOLD
7. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
รูปแบบการลงทุน : เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เมื่อลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร โดยมีข้อดีคือ ไม่กำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการซื้อต่อปี และไม่บังคับซื้อต่อเนื่อง แต่เมื่อซื้อแล้วต้องถือครองเป็นเวลา 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ต้องการสิทธิ์ลดหย่อนภาษี
ระดับความเสี่ยง: สามารถเลือกได้ทั้งความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง
กองทุนที่น่าสนใจ: KFAFIXSSF, KFHAPPYSSF, KFACHINSSF
8. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
รูปแบบการลงทุน: เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่ส่งเสริมให้มีการออมเงินในระยะยาวสำหรับยามเกษียณ นโยบายการลงทุนมีหลากหลาย สามารถลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตลาดเงิน ตราสารหนี้เอกชน หุ้น หุ้นต่างประเทศ ทองคำ เป็นต้น
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี ที่สามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และรอได้จนอายุครบ 55 ปี จึงจะขายคืนกองทุนรวมออกได้
ระดับความเสี่ยง: สามารถเลือกได้ทั้งความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง
กองทุนที่น่าสนใจ: KFSINCRMF, KFS100RMF, KFGBRANRMF
“เทคนิคดี ๆ กับแผนการลงทุนอย่างปลอดภัย”
นอกจากการเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตัวเราแล้วนั้น เรายังอยากให้ทุกคนได้รู้จักเทคนิคดี ๆ ในการลงทุน เพราะเราเข้าใจว่าเมื่อลงทุนแล้วเราทุกคนก็อยากได้ผลตอบแทนดีที่สุด ซึ่งสำหรับกองทุนรวมเราอาจใช้เทคนิค DCA (Dollar-cost averaging) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน คือไม่จำเป็นต้องลงทุนครั้งเดียวเยอะ ๆ แต่เป็นการทยอยลงทุนเป็นงวด ๆ เช่น เป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ด้วยจำนวนเงินลงทุนที่เท่า ๆ กัน โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุนที่เราจะซื้อ ณ ตอนนั้น ว่าจะเป็นราคาเท่าไหร่ ทำแบบนี้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ เงินที่เรา DCA จะไปถัวเฉลี่ยให้ราคาต้นทุนกองทุนรวมถูกลงนั่นเอง ซึ่งยังเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนให้เราอีกด้วย
ขอฝากไว้สุดท้ายว่าก่อนที่จะเลือกลงทุนในกองทุนรวม เราควรศึกษาข้อมูล หรือนโยบายการลงทุนให้เข้าใจ และหมั่นติดตามข่าวสาร เพื่อจะได้รู้ว่ากองทุนรวมที่เราเลือกนั้นมีผลการดำเนินการอย่างไร ตอนไหนถึงเวลาที่เราควรปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุน ให้เราวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายการลงทุน เพื่อให้เราถึงเป้าหมายที่เราฝันไว้ ไม่ว่าจะเป็นการมีเงินใช้ในวัยเกษียณ หรือมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงขึ้น ทั้งนี้หากอยากศึกษาข้อมูลการลงทุนหรือขยายทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่แล้ว สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก > https://bit.ly/2ROyHhe สามารถยื่นขอสินเชื่อแบบออนไลน์ก็ได้ ไม่มีการโอนเงินก่อนเด็ดขาด! > https://bit.ly/3m0Fsra หรือหากต้องการคุยแชทกับแอดมิน คลิก > https://bit.ly/3iEnOJX ให้บริการด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
Comments